ลิงก์ที่มาของภาพ |
ทำไมต้องอ่านวรรณคดี
ทุกคนเรียนวรรณคดีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก...ประโยคนี้เป็นความจริง เพราะไม่ว่าคุณจะเรียนอยู่ในระดับการศึกษาไหนก็ตามต่างก็ต้องเรียนวรรณคดีมาทั้งนั้น ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แม้กระทั่งปริญญาชีวิต และจากประสบการณ์การสอนวรรณคดีจะต้องมีคำถามที่ว่า "เราอ่านวรรณคดีไปทำไม" "เราเรียนวรรณคดีไปทำไม" จริง ๆ แล้วเราใช้ เพียงแค่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
วรรณคดี เป็นสิ่งสุนทร คือคำนิยามที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ให้ไว้ เป็นประโยคที่สั้น แต่ได้ใจความ เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนต้องการความสุนทรีย์ หากไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่เกิดงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึงวรรณคดีก็เป็นหนึ่งในแขนงของศิลปะด้วย
วรรณคดีมีประโยชน์อย่างไรกับชีวิตของเรา...อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า "วรรรคดีเป็นสิ่งสุนทร" นั่นหมายความว่าวรรณคดีทำให้มนุษย์เรามีความเพลิดเพลิน และมีความสุข หากมนุษย์ไม่มีความสุขในชีวิต จะเป็นอย่างไรข้าพเจ้าไม่อยากคิดตาม หากท่านอ่านถึงตรงนี้อาจบอกว่า "ฉันไม่เคยมีความสุขเลยที่อ่านวรรรคดี ศัพท์ก็ยาก ชื่อตัวละครก็แปลก ๆ เนื้อหาก็เยอะ" นั่นอาจเป็นเพราะท่านมองวรรณคดีมุมเดียว หรืออาจเป็นทัศนคติที่มีต่อวรรณคดีในแง่ลบ ซึ่งคงเป็นเป็นเพราะเราเรียนวรรณคดีโดยยึดที่ว่า ฉันต้องแปลคำศัพท์นี้ได้ ฉันต้องเข้าใจระบบฉันทลักษณ์ อันก่อให้เกิดความเครียดเมื่อต้องอ่านวรรณคดี วิธีแก้ไขคือ "อ่านวรรณคดีตามธรรมชาติ" อ่านไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องสนใจว่าศัพท์เหล่านั้นจะแปลว่าอะไร อาศัยบริบทรอบข้างของคำช่วยแปล แน่นอนว่าต้องรู้ตัวเองด้วยว่าเราอยู่ในระดับไหน หากเป็นนักอ่านสมัครเล่น การเลือกอ่านสมุทรโฆษ หรือนิราศนรินทร์คำโคลง ก็จะยากเกินไป วรรณคดีไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นคำประพันธ์ยาก ๆ แม้แต่ปลาบู่ทอง สังข์ทอง พระอภัยมณี ก็เป็นวรรณคดีเช่นกัน อันนี้ก็แล้วแต่ว่าท่านต้องการอ่านเรื่องใด
วรรณคดีไม่ได้มีแต่ร้อยกรอง หรือที่เรารู้จักว่าต้องแต่งเป็นกลอน ในบทความนี้ข้าพเจ้าขอขยายความว่าวรรณคดีไม่ได้หมายความว่าต้องได้รับการยกย่องเสมอไป เพราะความหมายอย่างกว้างก็คืองานเขียนทุกชนิด นั่นหมายความว่าหนังสือนิยายที่ท่านถืออยู่ในมือก็เป็นวรรณคดี (โดยส่วนใหญ่เราเรียกว่าวรรณกรรม) คราวนี้ท่านก็สามารถเลือกอ่านวรรณคดีที่ท่านชอบได้อย่างสบายใจ
ลิงก์ที่มาของภาพ |
ลิงก์ที่มาของภาพ |
วรรณคดีให้อะไรกับเราบ้าง วรรณคดีเป็นดั่งคันฉ่องที่สะท้อนทุกสิ่งอย่างให้ออกมาในรูปแบบตัวหนังสือ สี่แผ่นดิน สะท้อนชีวิตและเรื่องราวของคนในอดีตได้มากมาย คู่กรรม สะท้อนชีวิตสมัยช่วงสงครามโลกได้อย่างแจ่มชัด วรรณคดีต่าง ๆ ของสุนทรภู่ นอกจากจะสะท้อนสภาพชีวิตยังแฝงข้อคิดนานามากมายที่เรานำมาใช้สอนลูกหลานเรากันอยู่ตลอด เช่น "อย่าให้คำพูดเป็นนายเรา เพราะเราต้องเป็นนายคำพูด"
"ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิตแม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตรจะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา"
(นิราศภูเขาทอง)
การไว้ใจคนรอบข้าง
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนดถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลดก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน"
(พระอภัยมณี)
หรือคำสอนเกี่ยวกับความรัก
"เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรักแต่น้ำต้มผักเขาชมว่าหวานครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนานแต่น้ำตาลก็กว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล"
(พระอภัยมณี)
"เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา
นมหาพิมานรมย์
มารังสฤษฏ์พิศนิยม
ผิจะเทียบก็เทียมทัน
สามยอดตลอดระยะระยับ
วะวะวับสลับพรรณ
ช่อฟ้าตระการกละจะหยัน
จะเยาะยั่วฑิฆัมพร
บราลีพิลาศศุภจรูญ
นภศูลประภัสสร
หางหงส์ผจงพิจิตงอน
ดุจกวักนภาลัย
รอบด้านตระหง่านจตุรมุข
พิศสุกอร่ามใส
กาญจน์แกมมณีกนกไพ
ฑรุย์พร่างพะแพรวพราย"
(สามัคคีเภทคำฉันท์)
ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังมีประโยชน์อีกมายมากที่กำลังเล่นซ่อนแอบอยู่ รอให้ทุก ๆ ท่านไปโป้งแปะ (จะขอแอบชี้เป้าอย่างเช่น การจัดสำรับจาก กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน นิเวศนิยมจาก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง อารมณ์รักที่รุนแรงจาก นิราศนรินทร์คำโคลง)
จากตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วข้างต้นข้าพเจ้าพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าอย่างที่ชูชกทำเพื่อของพระกุมารและพระกุมารีจากพระเวสสันดร ต่างกันคือชูชกชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง แต่ข้าพเจ้าชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อวรรณคดี ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต่อให้ข้าพเจ้าจะชักแม่น้ำทั้งห้า คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ หรือหกสาย เจ็กสาย แต่ทุกท่านยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวรรณคดี ไม่เปิดใจรับวรรณคดีก็จะไม่เกิดผลอะไร เพียงแค่เปิดใจ ยอมรับวรรณคดีให้ได้เข้าไปรับไออุ่นจากอ้อมอกคุณ ล้างสรรพเหตุผลนานาที่ทำให้คุณห่างเหินวรรณคดี แล้วคุณจะติดใจวรรณคดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น