วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

วรรณคดีสีเขียว วรรณคดีแห่งธรรมชาติ


เครือข่ายวรรณคดีสีเขียว หรือวรรณคดีนิเวศนิยม สรุปสั้น ๆ คือการวิจารณ์วรรณคดีที่มุ่งสร้างสำนึกสีเขียว สำนึกรักธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและมนุษย์


       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวว่า" การวิจารณ์วรรณคดีแนวนิเวศสำนึก เป็นการวิจารณ์วรรณคดีโดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับวรรณคดีที่กล่าวถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Nature Writing" 

     ที่ข้าพเจ้าสนใจการวิจารณ์วรรณคดีแนวนิเวศนิยม เพราะเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านจุดประสงค์ของการวิจารณ์วรรณคดีแนวนิเวศนิยมนี้แล้วพบว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและยังไม่เคยเจอมาก่อน การวิจารณ์วรรณคดีนิเวศนิยมไม่เน้นความงามทางภาษา แต่เน้นว่าวรรณคดีเรื่องใดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแบบ "พวกเดียวกับธรรมชาติ" คือความรักธรรมชาติ หวงแหนธรรมชาติ และเห็นความสำคัญของะรรมชาติ หรือแบบ "ทรราชธรรมชาติ" คือการมองธรรมชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวว่า บางคำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการปลูกจิตสำนึกแบบทรราชกับธรรมชาติ เช่น "ทรัพยากรธรรมชาติ" เมื่อมนุษย์เล็งเห็นว่าป่าไม้เป็น "ทรัพยากรธรรมชาติ" มนุษย์จึงคิดว่าป่าไม้คือ "ทรัพย์สมบัติ" ที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ใด ๆ ก็ได้ ส่งผลให้ปัจจุบันธรรมชาติเหลือน้อยลง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ asle
ลิงก์คำอธิบายภาพ


         หากอ่านนิราศต่าง ๆ ของสุนทรภู่สิ่งหนึ่งที่พบได้คือธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สุนทรภู่เจอต้นไม้สัตว์ป่านานาพันธุ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้หาง่ายอย่างที่สุนทรภู่กล่าวไว้ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงก็กล่าวถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ไว้เช่นกัน ไว้ว่าจะเป็นปลา นก ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งกาพย์เห่เรือในส่วนที่กล่าวถึงบทชมปลา ชมนก และชมไม้ ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมาแต่ในอดีต  

        วรรณคดีนิเวศนิยมยังสามารถโยงเข้ากับศาสนาคือศาสนาพุทธ ซึ่ง รุจี ตันติอัศวโยธี ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การวิจารณ์วรรณคดีเชิงพุทธนิเวศ" ซึ่งเป็นการโยงการวิจารณ์วรรณคดีแนวนิเวศนิยม รวมกับหลักนิยาม 5 นำมาวิจารณ์วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นการเปิดโลกทัศน์การวิจารณ์วรรณคดีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

              ประโยชน์ของวรรณคดีสีเขียว จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงกลุ่มชาติพันธ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ การวิจารณ์วรรณคดีแนวนิเวศนิยมนี้เป็นแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ของวงการวรรณคดีที่จะร่วมช่วยให้โลกน่าอยู่ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติ และถึงแม้จะเป็นเพียงแรงขับเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าใด แต่ก็นับว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสร้างสำนึกสีเขียวให้กับมนุษย์เพื่อโลกที่น่าอยู่สืบไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น